กรมสุขภาพจิต แนะชุมชน ประชาชน เตรียมแนวทางรับมือ น้ำท่วม 5-9 ส.ค. 61 ลดความเสียหาย ลดเครียดทุกข์ใจได้


          กรมสุขภาพจิต สั่งโรงพยาบาลจิตเวชในสังกัดทั่วประเทศ เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักในช่วง  5-9 ส.ค. เตรียมทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทสนับสนุนเครือข่ายในพื้นที่ประสบภัย  ผู้ป่วยที่ยาใกล้หมด ให้พบแพทย์ก่อนวันนัดได้   ส่วนชุมชนและประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม  แนะให้เตรียมแนวทางรับมือไว้ล่วงหน้า จะช่วยลดความเสียหาย ลดความเครียดได้ ส่วนการช่วยเหลือสปป.ลาวจากสันเขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อยแตกขณะนี้ ผู้ประสบภัยร้อยละ90 จิตใจดีขึ้น    
          นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วมจากฝนตกหนักในวันที่ 5-9สิงหาคม 2561 ตามประกาศเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยาว่าได้สั่งการให้โรงพยาบาลจิตเวชในสังกัด 20 แห่งทั่วประเทศ เตรียม 2 มาตรการ ได้แก่ 1.ป้องกันน้ำท่วมโรงพยาบาลไว้ล่วงหน้า  สำรวจระบบไฟฟ้า น้ำประปาสำรองให้สามารถใช้การได้ทันทีเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน ทั้งนี้เพื่อให้สามารถจัดบริการประชาชนได้ตลอด 24  ชั่วโมง และ2.เตรียมทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท(MCATT)และเวชภัณฑ์ยาทางจิตเวช พร้อมสนับสนุนเครือข่ายที่มีครอบคลุมทุกอำเภอ เพื่อดูแลประชาชนรวมทั้งผู้ป่วยจิตเวชเดิมที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยด้วย  
          อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่าในส่วนของชุมชนและประชาชน  ขอให้เตรียมการและจัดวางแนวทางความพร้อมในการรับมือโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมหรือดินโคลนถล่ม  เช่นพื้นที่ลุ่มอยู่ใกล้แม่น้ำ เนินเขา   เพื่อลดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินที่อาจเกิดขึ้นให้เหลือน้อยที่สุด  ซึ่งจะช่วยลดความเครียดความทุกข์ใจได้มาก   โดยชุมชนควรเตรียมข้อมูลเพื่อประสานความช่วยเหลือด้านสุขภาพอนามัย ความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สินและแจ้งเตือนประชาชนทุกครอบครัวให้เตรียมการรับมือกับน้ำท่วม  พร้อมทั้งเตรียมแนวทางแก้ไขหรือประนีประนอมกรณีเกิดความขัดแย้งภายในหรือระหว่างชุมชน เช่นเรื่องการกั้นน้ำเป็นต้น   ส่วนระดับครอบครัวมีข้อแนะนำ 3 ข้อ ดังนี้1.เตรียมวางแผนป้องกันความเสียหายและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในครัวเรือน เช่น การกั้นน้ำไม่ให้เข้าบ้าน ดูแลเรื่องไฟฟ้า ประปา ที่จอดรถ 2.เตรียมการหากจำเป็นต้องอพยพ เช่นทรัพย์สินมีค่า เด็ก ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เอกสารสำคัญ เสื้อผ้า ของใช้จำเป็น ยา แหล่งพักพิงและซักซ้อมความเข้าใจให้ทุกคนรู้เท่ากัน และ3.ครอบครัวที่มีผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังควรเตรียมยาที่ต้องรับประทานเป็นประจำให้พร้อม  หากยาใกล้หมด ขอให้ไปพบแพทย์ก่อนวันนัดได้  หากไม่สามารถเดินทางไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัดได้ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่หรืออสม.ใกล้บ้านหรือโทรสายด่วน1323หรือ1669 ฟรี  เพื่อจะได้จัดส่งยาให้โดยเร็ว
          สำหรับผลการให้ความช่วยเหลือชาวสปป.ลาวที่เมืองสะหนามไช แขวงอัตตะปือ   ที่ประสบภัยน้ำท่วมจากเหตุสันเขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อยแตกเมื่อวันที่ 23กรกฎาคม 2561 ได้รับรายงานจากทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทของโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จ.อุบลราชธานี ว่าขณะนี้อยู่ในช่วงการฟื้นฟู  ประชาชนมีสภาพจิตใจดีขึ้นเรื่อยๆ  โดยทีมของไทยปฎิบัติงานร่วมกับทีมจิตแพทย์ของโรงพยาบาลมโหสถ นครเวียงจันทน์  ทีมผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลกและทีมสาธารณสุขแขวงอัตตะปืออย่างใกล้ชิด เน้นถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆที่จำเป็น เช่นการคัดกรองหาผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตรุนแรง เช่นอาการซึมเศร้า  สร้างความเข้มแข็งให้ทีมจิตแพทย์และเจ้าหน้าที่ของสปป.ลาวและการสร้างอาสาสมัครภาคประชาชนที่ประสบภัยเพื่อเป็นเครือข่ายช่วยดูแลฟื้นฟูสุขภาพจิตในระยะยาวด้วย    
ทางด้านนายแพทย์ประภาส   อุครานันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลฯได้ส่งทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทชุดที่ 2 เข้าไปปฎิบัติงานที่ศูนย์พักพิงโรงเรียนมัธยมสะหนามไช และโรงเรียนอนุบาลสะหนามไช ระหว่างวันที่ 2-8 สิงหาคม 2561 มีนายแพทย์วัฒนพงษ์ พันธ์สวัสดิ์ เป็นหัวหน้าทีม  ผลการปฏิบัติงานตั้งแต่ 28 กรกฎาคม -4 สิงหาคม ตรวจคัดกรองในกลุ่มครอบครัวผู้สูญหาย เสียชีวิต บ้านเรือนเสียหาย รวม 489 คน พบมีความเครียดในระดับสูง  ต้องดูแลใกล้ชิด 22คน ในระยะของการฟื้นฟูจะเน้นจัดกิจกรรมต่างเพื่อผ่อนคลายเครียดทั้งผู้ใหญ่และเด็ก พบว่าขณะนี้ผู้ประสบภัยร้อยละ 90 มีกำลังใจดีขึ้น มีแรง ร่างกายสดชื่นขึ้น  โดยได้จัดทำเอกสารคำแนะนำการดูแลผู้ประสบภัย  รวมทั้งแบบสำรวจปัญหาสุขภาพจิตผู้ประสบภัยเป็นภาษาลาว เพื่อให้เข้าใจง่าย รู้ปัญหาและให้การดูแลได้ทันท่วงที

ความคิดเห็น