กรมสุขภาพจิต ยกระดับคุณภาพมาตรฐานบริการตรวจรักษาผู้ป่วยจิตเวช  รอไม่นาน  กลับบ้านเร็ว 


กรมสุขภาพจิต เผยผลงานการเพิ่มการเข้าถึงบริการผู้ป่วยจิตเวช 4 โรคทั่วประเทศ คือ จิตเภท ซึมเศร้า ออทิสติก สมาธิสั้น บรรลุตามเป้าในรอบ 3 เดือนแรกปีงบประมาณ 2561 พร้อมทั้งมีแผนยกระดับคุณภาพมาตรฐานบริการตรวจรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลจิตเวชในสังกัด 19 แห่งทั่วประเทศ  ผู้ป่วยรอไม่นาน กลับบ้านเร็ว     รายเก่าไม่เกิน 70 นาที ส่วนรายใหม่ไม่เกิน 110 นาที พร้อมเร่งแก้ไขปัญหาผู้ป่วยจิตเวชที่อยู่ในกทม.ก่อเหตุทำร้ายคนอื่น   
วันนี้ ( 25 มกราคม 2561 ) ที่ห้องประชุมโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์  อ.เมือง จ.นครราชสีมา นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง   ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต พร้อมด้วยรองอธิบดีกรมสุขภาพจิต  ประชุมผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดทั้งส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินการงานทั้งด้านการบริหารจัดการงบประมาณเพื่อพัฒนาระบบบริการ การบำบัดรักษาผู้ป่วย การส่งเสริมฟื้นฟูสุขภาพจิตในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ2561
อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า จากการติดตามการใช้งบประมาณก่อสร้างอาคารบริการผู้ป่วยจิตเวช  การจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ของหน่วยงานต่างๆ พบว่าเป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะการก่อสร้างโรงพยาบาลจิตเวชแห่งใหม่ที่จังหวัดพิษณุโลก เพื่อดูแลประชาชนในเขตสุขภาพที่ 2 ซึ่งมี 5 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก ตาก  เพชรบูรณ์ สุโขทัย และอุตรดิตถ์    ขณะนี้ใกล้แล้วเสร็จ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ประมาณเดือนมีนาคม 2561  หลังจากนี้จะมีโรงพยาบาลจิตเวชเป็นศูนย์เชี่ยวชาญรับส่งต่อผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการรุนแรงครบทุกเขตสุขภาพ
ส่วนในการดูแลสุขภาพจิตประชาชนในปีงบประมาณ 2561 นี้ กรมสุขภาพจิตได้ติดตามการดำเนินงานทุกเดือนทั้งหมด 17 ตัวชี้วัด ในจำนวนนี้เพิ่มการเข้าถึงผู้ป่วยจิตเวช 5 โรคสำคัญที่พบในอันดับต้นๆ ให้ได้รับการบำบัดรักษาที่มีมาตรฐาน  ได้แก่  ผู้ป่วยจิตเภท ตั้งเป้าให้ได้ร้อยละ70 ,  ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เพิ่มให้ได้มากกว่าร้อยละ55  , โรคสมาธิสั้น ตั้งเป้าให้ได้ร้อยละ 9 , โรคออทิสติก ตั้งเป้าให้ได้ร้อยละ 11  ผลงานในรอบ 3 เดือนมานี้ พบว่าบรรลุตามเป้า โดยเฉพาะเด็กออทิสติก ยอดเข้าถึงบริการเพิ่มสูงกว่าเป้า 3 เท่าตัว ในอนาคตจะเร่งเพิ่มการเข้าถึงของเด็กป่วย 2 โรคนี้ให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 เทียบเท่ากับค่าเฉลี่ยทั่วโลก   และโรคสุดท้ายคือผู้ป่วยจิตเวชที่เกิดมาจากการติดสุราซึ่งเป็นตัวชี้วัดใหม่ที่เพิ่มในปี 2561 เนื่องจากผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก ยอดผู้ป่วยจิตเวชที่เกิดจากการติดสุราที่เข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาลจิตเวช โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ สะสมตั้งแต่พ.ศ.2556-2560อยู่ที่ร้อยละ 19 ปัจจุบันได้กำหนดการเข้าถึงของผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ1
อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อไปว่า ในการเพิ่มการเข้าถึงบริการเฉพาะทางของผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการรุนแรงต้องพบผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ในโรงพยาบาลจิตเวชและสถาบันเชี่ยวชาญในสังกัดกรมสุขภาพจิต 19 แห่งทั่วประเทศ   ซึ่งโดยเฉลี่ยมีผู้ป่วยจิตเวชที่แผนกผู้ป่วยนอกวันละประมาณ 200-400 คน กรมสุขภาพจิตมีนโยบายเพิ่มมาตรฐานบริการและความรวดเร็ว  จะลดเวลารอคอยผู้ป่วยให้สั้นที่สุด ลดการสูญเสียเวลาของญาติด้วย  กรณีของผู้ป่วยนอกรายเก่าที่นัดติดตามผลการรักษา จะใช้เวลาไม่เกิน 70 นาที   ส่วนกรณีของผู้ป่วยรายใหม่ใช้เวลาไม่เกิน 110 นาทีสามารถรับยากลับบ้านได้ เนื่องจากผู้ป่วยรายใหม่ต้องใช้เวลาในการตรวจที่ละเอียดทั้งผู้ป่วยและญาติ  ร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือการตรวจเพิ่มเติมทางด้านจิตวิทยา
นอกจากนี้ในที่ประชุมวันนี้ ยังได้หารือมาตรการป้องกันผู้ป่วยจิตเวชที่ก้าวร้าวและอาละวาด ทำร้ายคนอื่นซึ่งปรากฎเป็นข่าวบ่อยครั้ง ซึ่งขณะนี้กรมสุขภาพจิตได้มีระบบการขึ้นทะเบียนติดตามผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและมีความเสี่ยงเป็นอันตรายต่อคนอื่น ภายหลังได้รับการบำบัดรักษาจากโรงพยาบาลจิตเวชทั้ง  13 แห่งทั่วประเทศ โดยมีระบบการส่งต่อผู้ป่วยในพื้นที่ในเขตสุขภาพทั้ง12 เขต  เพื่อการดูแลต่อเนื่อง พบว่าปัญหาในต่างจังหวัดลดน้อยลงมาก   แต่ในส่วนของผู้ป่วยจิตเวชที่อยู่ในกทม.ยังดำเนินการไม่ทั่วถึง  ซึ่งกรมสุขภาพจิตจะหารือกับผู้บริหารของกทม. เพื่อวางแผนเชื่อมโยงระบบเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยร่วมกันในการป้องกันปัญหานี้ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดมาจาก 2สาเหตุหลัก คือขาดยา  และขาดผู้รับผิดชอบดูแลในครอบครัวและในชุมชน        


ความคิดเห็น