กรมสุขภาพจิตส่งเสริมพัฒนาการและไอคิวเด็กบ้านผาแดง ต.สบโขง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ให้เด็กสมองดี เรียนได้
กรมสุขภาพจิตส่งเสริมพัฒนาการและไอคิวเด็กบ้านผาแดง ต.สบโขง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ให้เด็กสมองดี เรียนได้
กรมสุขภาพจิตจัดโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยใน 5 หมู่บ้านที่อยู่ในความดูแลของสุขศาลาพระราชทาน โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนท่านผู้หญิงประไพ ศิวะโกเศศ บ้านผาแดง ต.สบโขง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ผลพบว่าอยู่ในเกณฑ์สงสัยล่าช้าด้านใดด้านหนึ่งร้อยละ 90 เพราะได้รับสารอาหารที่จำเป็นไม่ครบ ขาดการส่งเสริมพัฒนาการจากพ่อแม่ และไม่มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่ใกล้เคียง หลังจากได้รับการกระตุ้นด้วยเครื่องมือส่งเสริมพัฒนาการและฝึกทักษะการเลี้ยงดูแก่พ่อแม่ พบเด็กดีขึ้นร้อยละ 20 แต่ยังไม่กลับมาสมวัย ส่วนไอคิวเด็กนักเรียนชั้น ป.1 พบมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ
เมื่อวันนี้ (22 มกราคม 2561) เวลา 15.00 น.สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และเสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนท่านผู้หญิงประไพ ศิวะโกเศศ บ้านผาแดง หมู่ 12 ต.สบโขง อ.อมก๋อย และทอดพระเนตรกิจกรรมของสุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนท่านผู้หญิงประไพ ศิวะโกเศศ โดยมีนาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต 256 พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากกรมสุขภาพจิต กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เฝ้ารับเสด็จ
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง กล่าวถวายรายงานว่า สุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนท่านผู้หญิงประไพ ศิวะโกเศศ เปิดให้บริการเมื่อ พ.ศ.2558 ดูแลสุขภาพนักเรียนและชุมชนซึ่งเป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยงหรือ ปกาเกอะญอ 5 หมู่บ้าน จำนวน 140 ครัวเรือน ประชากร 535 คน ฐานะยากจน มีเด็กปฐมวัยอายุต่ำกว่า 6 ขวบ 26 คน เด็กวัยเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 64 คน กรมสุขภาพจิตได้มอบหมายให้ให้สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 จ.เชียงใหม่ เข้ามาดำเนินการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัย โดยพัฒนาการเป็นสิ่งสะท้อนถึงความสามารถของสมองในการทำหน้าที่ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้และพัฒนาสิ่งใหม่ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่ต้องการในคนไทย 4.0 เพื่อให้เด็กมีคุณภาพ มีร่างกายแข็งแรง ฉลาด สมองดี เรียนได้ และกลับมาพัฒนาชุมชน
ผลการตรวจพัฒนาการเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 จำนวน 10 คน พบมีพัฒนาการล่าช้าด้านใดด้านหนึ่ง 9 คน คิดเป็นร้อยละ 90 ส่วนใหญ่ล่าช้าด้านรับรู้ การสื่อภาษา การใช้มือหยิบจับ เนื่องจากได้รับสารอาหารที่จำเป็นไม่เพียงพอในช่วง 0-3 ปี เพราะครอบครัวยากจน และไม่มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กรองรับในพื้นที่ ต้องรอจนอายุ 3 ปีจึงจะได้รับการดูแลโดยโรงเรียน ตชด. ประกอบกับพ่อแม่ยังขาดทักษะการเลี้ยงดูลูกและการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันพัฒนาการเด็กฯได้แก้ไขโดยให้ความรู้พ่อแม่ผู้ปกครองและครูในโรงเรียนตชด. ฝึกทักษะการใช้เครื่องมือกระตุ้นพัฒนาการและส่งเสริมการเลี้ยงดูด้วยสร้างวินัยเชิงบวกให้แก่พ่อแม่และครู สร้างความรักความอบอุ่นผ่านการทำกิจกรรมการกอด เล่า เล่น เต้น วาด และสร้างสมาธิ ทำให้พัฒนาการของเด็กก้าวหน้าขึ้นร้อยละ 20 เช่น การใช้กล้ามเนื้อและภาษา แต่ยังไม่กลับมาสมวัยทุกด้าน ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยจะตรวจพัฒนาการเด็กปฐมวัยจนครบทั้งหมดและประเมินรอบที่ 3 ในช่วงเดือนหน้านี้
ส่วนระดับสติปัญญาหรือไอคิวเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนท่านผู้หญิงประไพ ศิวะโกเศศ จำนวน 10 คน พบมีค่าสติปัญญาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ซึ่งอยู่ที่ 98 คะแนน สะท้อนถึงคุณภาพการเลี้ยงดูในช่วง 5 ปีก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในช่วงก่อนอายุ 3 ปี
ในภาพรวมปัญหาสุขภาพของชุมชนเผ่าปกาเกอะญอ ยังพบเด็กมีเหา 12 คน ประชาชนยังขาดความรู้ด้านสุขอนามัยส่วนบุคคลและการส่งเสริมสุขภาพ จึงได้จัดมุมให้ความรู้ด้านสุขภาพและสุขบัญญัติ 10 ประการในสุขศาลาพระราชทาน ทั้งนี้ในปี 2558-2560 มีประชาชนเข้ารับบริการที่สุขศาลาพระราชทานฯ รวม 892 คน โรคที่พบป่วยกันมากคือไข้หวัด รองลงมาคือปวดเมื่อย อาการไม่รุนแรง ไม่พบมาลาเรียและไข้เลือดออก ไม่มีผู้เสียชีวิต
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น