กรมสุขภาพจิต ลงนามร่วมมือจีน 6 สาขา พัฒนาบริการผู้ป่วยจิตเวช เตรียมนำการ“ฝังเข็ม”รักษาเด็กโรคจิตเวช


กรมสุขภาพจิตลงนามความร่วมมือมณฑลส่านชี สาธารณรัฐประชาชนจีน 6 สาขา พัฒนาวิชาการและระบบบริการผู้ป่วยจิตเวชและสุขภาพจิต อาทิ การแลกเปลี่ยนความรู้และแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศ การใช้การแพทย์ทางเลือกและการแพทย์พื้นบ้านบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวช การพัฒนาบุคลากร โดยไทยได้นำการฝังเข็มมารักษาเด็กป่วยจิตเวช 6 โรคอาทิสมองพิการ ออทิสติก เด็กดาวน์ ที่รักษาด้วยยาและปรับพฤติกรรมแล้วได้ผลยังไม่เป็นที่พอใจ  ที่สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่แห่งเดียวในประเทศ ผลพบว่าพัฒนาการดีขึ้น เตรียมศึกษาวิจัยเพิ่มเติม พร้อมทั้งนำระบบบริการฟื้นฟูผู้ป่วยเฉพาะราย 3 โรคคือจิตเภท ซึมเศร้าและโรคอารมณ์ 2 ขั้ว มาใช้ในโรงพยาบาลจิตเวชทั่วประเทศ    

วันนี้ (29 มกราคม 2561 )  ที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน  นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังลงนามต่ออายุข้อตกลงความร่วมมือครั้งที่ 4 พ.ศ. 2560-2565 กับคณะกรรมาธิการด้านสุขภาพและการวางแผนครอบครัวของมณฑลส่านซี ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ( Shaanxi Municipal Commission of Family Planning) ณ ศูนย์สุขภาพจิตซีอาน ( Xi  an Mental Health Center) มณฑลส่านซี เพื่อพัฒนาวิชาการและระบบบริการสุขภาพจิต หลังจากเริ่มร่วมมือเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา และต่ออายุทุก 5 ปี  ว่า ความร่วมมือกับจีนในช่วงที่ 4 นี้ได้เพิ่มสาระจากเดิม 4 สาขาที่เน้นด้านข้อมูลข่าวสารวิชาการ ศึกษาดูงานและการอบรมบุคลากร เพิ่มเป็น  6 สาขาเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้แก่ 1.การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับระบบและนโยบายด้านสุขภาพจิต 2.แลกเปลี่ยนวิชาการ แนวทางปฏิบัติภาคบริการที่เป็นเลิศด้านสุขภาพจิต
3.ความร่วมมือในด้านบริการสุขภาพจิตและการควบคุมปัจจัยเสี่ยงของการเกิดปัญหาสุขภาพจิต อาทิ เด็กติดเกมเด็กก้าวร้าว  ความบกพร่องทางสติปัญญา  โรคออทิสติก บริการสุขภาพจิตชุมชน บริการผู้ป่วยจิตเวชที่มีคดี  4. การบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวชโดยใช้การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก 5. การพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพจิต และ 6. ความร่วมมือในระดับของโรงพยาบาลจิตเวช และความร่วมมือด้านอื่นๆที่กำหนดร่วมกัน   ตามกรอบความร่วมมือนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายจะคัดเลือกบุคลากรทั้งระดับผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ  นักวิชาการ จำนวน 5 คน แลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ การศึกษาวิจัย และการฝึกอบรมทั้งระยะสั้นและระยาว  เพื่อพัฒนาระบบบริการให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น   
อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า  สำหรับงานสุขภาพจิตของมณฑลส่านซี  ปัจจุบันมีความก้าวหน้าและพัฒนารวดเร็วมาก  ที่ดำเนินการได้โดดเด่นและไทยได้นำมาประยุกต์ใช้ในระบบริการขณะนี้และจะเร่งเพิ่มในระบบบริการจิตเวชมี  2 เรื่องใหญ่ เรื่องแรกคือการดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชแบบเฉพาะราย ซึ่งดำเนินการที่รพ.บาวจี (Baoji Rehabilitation Hospital ) ของมณฑลส่านซี  เน้นการตอบสนองความต้องการพื้นฐานผู้ป่วย ประเมินปรับปรุงนิสัยที่เป็นปัญหาและแก้ปัญหาผู้ป่วยแต่ละด้านโดยทีมสหวิชาชีพ  ให้ครอบครัวมีส่วนร่วม  ให้การรักษาด้วยยาและรบกวนคุณภาพชีวิตผู้ป่วยให้น้อยที่สุด   มีหอพักสำหรับฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยที่มีอาการทุเลาแล้ว สามารถออกไปทำงานหรือทำธุระต่างๆภายนอกโรงพยาบาลในช่วงกลางวันได้ เป็นต้น  โดยไทยได้นำมาขยายผลใช้ในโรงพยาบาลจิตเวชทุกแห่ง เริ่มในผู้ป่วย 3 กลุ่มที่พบมากประมาณร้อยละ 60 ของผู้ป่วยจิตเวชคือโรคจิตเภท โรคซึมเศร้าและโรคอารมณ์ 2 ขั้ว      
ประการที่  2. คือการใช้การฝังเข็มรักษาผู้ป่วยจิตเวชที่ศูนย์สุขภาพจิตซีอาน ( Xi  an Mental Health Center) มณฑลส่านซี  ใช้รักษาโรคจิตเภท โรคซึมเศร้า  เป็นต้น เป็นทางเลือกใช้ควบคู่กับการแพทย์สมัยใหม่   ในส่วนของไทย ขณะนี้กรมสุขภาพจิตได้เปิดบริการฝังเข็มที่สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ แห่งเดียวในประเทศ  รักษาเด็กป่วยจิตเวช 6 โรค ได้แก่ โรคสมองพิการหรือโรคซีพี ( Cerebral Palsy:CP) โรคออทิสติก (Autistic) ภาวะปัญญาอ่อน ( Mental Retard) สมาธิสั้น (Attention Deficit   Hyperactivity Disorder )    กลุ่มอาการดาวน์  ( Down s syndrome ) และเด็กกลุ่มพัฒนาการช้า ที่ได้รับการรักษาด้วยยาและปรับพฤติกรรมตามแผนการรักษาตามปกติแล้วได้ผลยังไม่เป็นที่พอใจ  แพทย์จะพิจารณาเพิ่มการรักษาด้วยการฝังเข็ม  โดยฝังเข็มที่ศีรษะ ฝังอาทิตย์ละ  3-4  ครั้งต่อเนื่องอย่างน้อย 10 ครั้ง  เพื่อปรับความสมดุลย์การทำงานของอวัยวะต่างๆ กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต   ระงับความรู้สึกปวด ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว เด็กสามารถทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกับผู้ป่วยด้วยกันได้  ผลการรักษาพบว่าพัฒนาการเด็กดีขึ้นเป็นที่พอใจของครอบครัว เช่นเด็กออทิสติกจะนิ่งขึ้น  มองหน้าสบตามากขึ้น เด็กปัญญาอ่อนเข้าใจภาษา ทำตามคำสั่งได้ดี  เด็กโรคซีพีมีกำลังกล้ามเนื้อดีขึ้นอาการเกร็งลดลง  เด็กสมาธิสั้นจะนิ่งขึ้นโดยไม่ต้องเพิ่มยาที่ใช้ บางรายอาจลดยาลงได้ ให้บริการเฉลี่ยปีละ 1,000  กว่าราย ซึ่งกรมสุขภาพจิตจะร่วมมือกับมณฑลส่านซีพัฒนาวิชาการด้านนี้เพิ่มเติม  เพื่อขยายผลในโรงพยาบาลในสังกั19 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งอาจลดค่าใช้จ่ายการใช้ยาในอนาคตได้ด้วย 

    ทั้งนี้ผลความร่วมมือกับมณฑลส่านซีในรอบ 15 ปี มีการศึกษาดูงานโรงพยาบาลจิตเวชร่วมกันไปแล้วกว่า100 คน ฝ่ายไทยได้แลกเปลี่ยนงานที่เป็นจุดเด่นของไทยกับจีน เช่นการบริหารสุขภาพจิต การส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตชุมชน ครอบคลุมทุกกลุ่มวัยคือเด็กเล็ก วัยเรียน  วัยรุ่น วัยทำงาน วัยสูงอายุซึ่งรวมถึงผู้พิการด้วย   โดยได้เชิญจีนเข้าร่วมประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติซึ่งกรมสุขภาพจิตจัดในเดือนสิงหาคมทุกปี พร้อมกับศึกษาดูงานจิตเวชที่โดดเด่นของไทย เช่นงานฟื้นฟูด้านอาชีพของรพ.ศรีธัญญา  งานนิติจิตเวชของสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ งานบำบัดฟื้นฟูเด็กบกพร่องทางสติปัญญาที่สถาบันราชานุกูล และสถาบันยุวประสาทไวทโยปถัมภ์เป็นต้น ซึ่งทางการจีนสนใจมาก   ขณะเดียวกันได้ให้มณฑลส่วนซีส่งบุคลากรจำนวน 2 คนเข้าอบรมหลักสูตรสุขภาพจิตชุมชนนานาชาติระยะสั้น 3-4 สัปดาห์ ในกลุ่มประเทศอาเซียนของกรมสุขภาพจิต ซึ่งเป็นงานที่ประเทศไทยมีชื่อเสียงมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดทุกปี  ทำมาแล้ว 8 รุ่น มีบุคลากรจาก 10 ประเทศอาเซียนผ่านอบรมแล้วกว่า 300 คน 

ความคิดเห็น