กรมสุขภาพจิต พบมือมืด โทรป่วนสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ปีนี้ 1 แสนกว่าสาย ร้อยละ 30-40 เป็น “เซ็กส์คอล”


กรมสุขภาพจิต พบมือมืด โทรป่วนสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ปีนี้ 1 แสนกว่าสาย ร้อยละ 30-40 เป็น “เซ็กส์คอล”
                กรมสุขภาพจิต  เผยยอดใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรี 24 ชั่วโมง ในปี 2560 พุ่ง 4 แสนกว่าสายมากกว่าปี 2559 ประมาณ  3 เท่าตัว แต่บริการได้เพียง 62,000 กว่าสายเท่านั้น เนื่องจากถูกมือมืดโทรป่วนปีละ 1 แสนกว่าสายเฉลี่ยชั่วโมงละ 11 สาย ร้อยละ 30-40 หรือ 30,000-40,000 สายเป็นเซ็กส์คอล  ลวนลามเจ้าหน้าที่สาว วอนอย่าทำเพราะทำให้ผู้ที่ทุกข์ใจจริงสูญเสียโอกาสโทรไม่ติด ปัญหาที่ครองอันดับใช้บริการสายด่วนในกลุ่มประชาชนทั่วไปได้แก่ปัญหาทางจิตเวช ความเครียด ความรัก ครอบครัว ส่วนกลุ่มวัยรุ่นคือความเครียด ความรัก ปัญหาเรื่องเพศ  ซึมเศร้า  ปีนี้เพิ่มบริการคู่สายเป็น 12 คู่สาย และเพิ่มช่องทางให้บริการแช็ตข้อความทางเฟชบุ๊ค 1323 ตั้งแต่เวลา 6.30 น.จนถึง 22.30 น.ทุกวัน    พร้อมแนะผู้ที่มีพฤติกรรมเซ็กส์คอล เข้ารักษาที่รพ.จิตเวชทุกแห่ง  อย่าอายหมอ  ชี้มีโอกาสหายขาด 
          นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า  ขณะนี้กรมสุขภาพจิต เร่งพัฒนาช่องทางเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตแก่ประชาชนทุกกลุ่มวัยตลอด 24 ชั่วโมง  โดยเปิดสายด่วนสุขภาพจิต 1323 โทรฟรี ให้บริการปรึกษาแก่ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตเพื่อคลี่คลายทุกข์ทางใจเบื้องต้น และแนะแนวทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง  ในปี 2560 นี้มีประชาชนโทรใช้บริการ 4 แสนกว่าสาย เพิ่มจากปี 2559ประมาณ 3 เท่าตัว  แต่เจ้าหน้าที่สามารถรับสายให้บริการได้เพียง 62,418  สาย สาเหตุที่รับสายได้น้อยเนื่องจากมีผู้โทรป่วนเข้าไปมากถึง 1 แสนกว่าสาย เฉลี่ยชั่วโมงละ 11 สาย  ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นวัยรุ่นที่คึกคะนอง อยากลองโทรป่วน  และที่น่าตกใจพบว่าร้อยละ 30-40 หรือประมาณ 30,000-40,000 สาย เป็นสายเซ็กส์คอล( Sex call)  พูดจาลวนลามเจ้าหน้าที่ผู้หญิง บางคนโทรถี่วันละ 6 ครั้ง 
          “ ขอความร่วมมือประชาชนที่ไม่มีปัญหาสุขภาพจิต  หยุดโทรรบกวนสายด่วน 1323   เนื่องจากจะทำให้ผู้ที่มีปัญหาเดือดร้อนใจต้องการที่พึ่งพิงทางใจหรือที่ปรึกษาณ.เวลานั้นๆโทรไม่ติดและขาดโอกาสได้รับคำแนะนำ ซึ่งบางครั้งอาจทำให้ตัดสินใจผิดพลาดถึงแก่ชีวิตได้  เช่นกรณีผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า หรือผู้ที่มีความคิดอยากฆ่าตัวตายเป็นต้น ซึ่งปัญหาสุขภาพจิตนี้ หากไม่ได้รับแก้ไขอย่างรวดเร็วก็จะสะสมและมีความรุนแรงขึ้น  อาจก่อปัญหาความไม่ปลอดภัยต่อสังคมได้เช่นกัน” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

สำหรับกลุ่มที่มีพฤติกรรมเซ็กส์โฟนหรือโรคโทรศัพท์ลามกอนาจาร  ซึ่งศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า เทเลโฟน สแก็ตโตโลเจีย (Telephone Scatologia)  จัดอยู่ในกลุ่มของกามวิปริต  เชื่อว่าเกิดมาจากปริมาณฮอร์โมนเพศชายมีมากกว่าปกติ และอาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติในสมอง   รวมทั้งเกิดมาจากปัจจัยทางจิตใจ ที่สำคัญคือปมด้อย(inferiority)ในเรื่องเพศของตนเอง เช่นเรื่องขนาด  การมีเพศสัมพันธ์   ทำให้ไม่มีความมั่นใจหรือไม่มีความสุขจากการมีเพศสัมพันธ์   เมื่อมีแรงขับทางเพศเกิดขึ้น จึงเลือกระบายออกโดยใช้โทรศัพท์เพื่อสร้างความมั่นใจในระดับจิตใต้สำนึก   อาการของกามวิปริตนี้ รักษาให้หายขาดได้ สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนทั่วไป   จึงขอให้ผู้ที่มีปัญหานี้หรือผู้ที่มีญาติป่วยหรือมีเพื่อนฝูงคนรู้จักป่วยเป็นโรคนี้   สามารถไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลจิตเวชทุกแห่ง   อย่าอายหมอ เพราะหากไม่ได้รับรักษา ผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมนี้ไปตลอดชีวิต       ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าผู้ที่เป็นโรคกามวิปริตเข้ารับการรักษาน้อยมากเพียง 1 ใน 4 หรือประมาณร้อยละ 25 ของผู้ป่วยเท่านั้น   
          ทางด้านแพทย์หญิงมธุรดา  สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กทม.กล่าวว่า ขณะนี้สถาบันฯได้ปรับระบบบริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เป็น 2 ระบบ คือ เพิ่มคู่สายบริการเป็น 12 คู่สาย   บริการตลอด24 ชั่วโมง  และเพิ่มบริการทางเฟซบุ้ค 1323 เพื่อแช็ตให้การปรึกษา โดยให้บริการตั้งแต่เวลา 6.30 น.จนถึง 22.30 น. ไม่มีวันหยุด  เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน
          ผลการให้บริการในปี 2560 นี้ มีทั้งหมด 62,418 สาย  ผู้ใช้บริการเป็นหญิงมากกว่าชาย 2 เท่าตัว ในภาพรวมกลุ่มประชาชนทั่วไป ปัญหาที่ปรึกษามากที่สุด 6 อันดับแรก อันดับ 1 ได้แก่ ปัญหาการเจ็บป่วยจิตเวช  ร้อยละ39   ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยเก่าที่มีปัญหาก้าวร้าว ขาดยา  หรือมีผลข้างเคียงจากการใช้ยา   อันดับ 2 เรื่องความเครียดหรือวิตกกังวล  ร้อยละ 35   อันดับ ปัญหาความรักร้อยละ   อันดับ4ปัญหาครอบครัว ร้อยละ  5   อันดับ 5ปัญหาซึมเศร้า ร้อยละ  4   และอันดับ คือปัญหาเรื่องเพศร้อยละ 3  ส่วนที่เหลืออื่นๆ ได้แก่ ปัญหาพฤติกรรม ปัญหาการทำงาน มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย ซึ่งพบ 425 คน  และปัญหาการพนัน

สำหรับในกลุ่มวัยรุ่น อายุ 15-21 ปี ซึ่งใช้บริการสายด่วนร้อยละ 16 เรื่องที่โทรปรึกษามากที่สุด  อันดับแรก อันดับ 1 ได้แก่มีความเครียดหรือวิตกกังวลเรื่องการปรับตัว เรื่องเพื่อน เป็นต้นร้อยละ  53   อันดับ 2ปัญหาความรัก ร้อยละ 22  อันดับ 3 ปัญหาเรื่องเพศ ร้อยละ 6  อันดับ เรื่องซึมเศร้า ร้อยละ 5  อันดับ ปัญหาทางจิตเวชร้อยละ 5 และอันดับ 6 เรื่องปัญหาครอบครัวร้อยละ 4  ที่เหลือเป็นปัญหาอื่นๆได้แก่ เรื่องการเรียน ปัญหาพฤติกรรม ปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อม และมีความคิดอยากฆ่าตัวตายซึ่งมีจำนวน 94 คน
          แพทย์หญิงมธุรดากล่าวต่อไปว่า  ในส่วนการให้บริการแช็ตข้อความทางเฟซบุ๊ค 1323      อับดับ1 ได้แก่การขอรับคำปรึกษาเรื่องความเครียดหรือวิตกกังวลร้อยละ 60  รองลงมาคือปัญหาซึมเศร้าร้อยละ  11 ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน

ความคิดเห็น